ความสามารถของผู้เยาว์ ………+\?

กฏหมายแพ่งเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์

กฎหมายแพ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคบความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนซึ่งเรียกว่า บุคคลตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ซึ่งกฎหมายแพ่งได้จำกัดความสามารถของผู้เยาว์ไว้หลายประการ นักเรียนเป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงควรจะต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองที่จะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามกฎหมาย

1. ระยะเวลาแห่งการเป็นผู้เยาว์และการสิ้นสุดการเป็นผู้เยาว์
ผู้เยาว์ คือ เด็กหรือบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลจะพ้นจากการเป็นผู้เยาว์ได้ 2 กรณี
1. เมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์
2. เมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติของกฎหมาย คือ กฎหมายกำหนดไว้ว่าการสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาทั้งสองฝ่าย

2. ความสามารถของผู้เยาว์
กฎหมายถือว่า บุคคลที่อยู่ในวัยผู้เยาว์ยังอ่อนทั้งในด้านสติปัญญา ร่างกาย ความคิดอ่าน ความรู้ ความชำนาญและไหวพริบ ยังเป็นผู้ไม่สมบูรณ์พอที่จะใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ได้โดยลำพัง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้ไม่สุจริตถือโอกาสเอาเปรียบ โดยอาศัยความไม่ชำนาญและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้เยาว์ก่อความเสียหาให้แก่ผู้เยาว์ ทางแก้ไขโดยกำหนดไม่ให้บุคคลอื่นมาเอาเปรียบผู้เยาว์กระทำได้ยาก กฎหมายจึงบัญญัติจำกัดความสามารถทางด้านผู้เยาว์ โดยถือเป็นหลักว่าผู้เยาว์จะใช้สิทธิทำกิจการใดๆที่จะก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายโดยลำพังไม่ได้ ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมกระทำการแทน หรือต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน การทำกิจการนั้นๆ จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ตัวอย่าง เด็กชายแดงไปขอยืมเงินจากนายดำ ซึ่งเป็นเพื่อนของบิดาเป็นจำนวนเงินห้าพันบาท นายดำให้เด็กชายแดงทำสัญญากู้เงินเป็นหนังสือไว้ ถือว่าสัญญากู้เงินนั้นเป็นโมฆียะตามกฎหมายเพราะเด็กชายแดงยังเป็นผู้เยาว์ไม่สามารถทำสัญญาได้ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน
ที่ว่าสัญญากู้เงินเป็นโมฆียะ หมายความว่าสัญญากู้เงินนั้นมีผลสมบูรณ์อยู่จนกว่าจะมีการบอกล้างโดยผู้มีอำนาจ เมื่อบอกล้างแล้วสัญญากู้เงินนั้นเป็นโมฆียะมาแต่เริ่มแรก
ถ้าหากกฎหมายไม่จำกัดความสามารถของผู้เยาว์ ในกรณีตัวอย่างนี้ถ้าเด็กชายแดงมีสิทธิที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินได้ ก็อาจจะเสียเปรียบนายดำได้ ถ้านายดำเป็นคนมีนิสัยคดโกงชอบเอาเปรียบผู้อื่นอาจจะหลอกให้เด็กชายแดงลงลายมือชื่อในสัญญา แล้วไปเติมข้อความภายหลัง เพราะเขาอาจมีวิธีการที่ทำให้เด็กชายแดงมีความไว้ว่างใจในตัวของนายดำ หรืออาจจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่ากฎหมายกำหนด ทั้งนี้เนื่องจากเด็กชายแดงเป็นผู้เยาว์ ความคิดอ่าน ความรู้ หรือไหวพริบยังไม่สมบูรณ์พอที่จะทำสัญญาหรือกิจการใดตามลำพัง ถ้าเด็กชายแดงมีความประสงค์จะทำสัญญากู้ยืมเงินจริงๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
ผู้แทนโดยชอบธรรม หมายถึง บุคคลซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิที่จะทำการแทนผู้เยาว์ หรือหมายถึงบุคคลซึ่งต้องให้ความอนุญาต หรือความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในอันที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ผู้แทนโดยชอบธรรมนี้ เป็นผู้ที่กฎหมายมอบสิทธิและหน้าที่ให้เป็นผู้คุ้มครองแก้ไขและช่วยเหลือการหย่อนความสามารถของผู้เยาว์ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับตัวผู้เยาว์และในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์

ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์

ได้แก่
1. ผู้ใช้อำนาจปกครอง หมายถึงบิดามารดา
2. ผู้ปกครอง หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากบิดาหรือมารดา ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองผู้เยาว์ ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ในปกครอง

3 . นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถกระทำได้ด้วยตนเอง
ผู้เยาว์สามารถกระทำการใดๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ได้แก่ กิจการอันเป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียวไม่มีทางเสีย เช่น ผู้เยาว์รับทรัพย์สินที่บุคคลอื่นให้โดยเสน่หา โดยไม่มีข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
ตัวอย่าง นายขุนทองเป็นผู้ที่มีฐานะดีมาก บ้านอยู่ใกล้กับบ้านของเด็กชายนกแก้ว เมื่อเด็กชายนกแก้วมีเวลาว่างก็จะไปช่วยนายขุนทองรดน้ำต้นไม้และช่วยทำงานอื่น นายขุนทองรักใคร่เอ็นดูเด็กชายนกแก้วมาก วันหนึ่งนายขุนทองได้มอบเงินให้เด็กชายนกแก้วเป็นจำนวนเงินสองหมื่นบาท
กรณีนี้ถือว่าการนี้เป็นประโยชน์ต่อเด็กชายนกแก้วไม่มีทางเสีย เด็กชายนกแก้วซึ่งเป็นผู้เยาว์สามารถรับเงินจำนวนดังกล่าวได้ และมีผลสมบรูณ์ตามกฎหมาย
2 . กิจการที่จะต้องทำเองเฉพาะตัว เช่น การรับเด็กเป็นบุตร หรือเข้าสู่พิธีสมรส
ตัวอย่าง นายจำปา อายุ 18 ปี มีอาชีพรับจ้าง จัดว่าเป็นผู้เยาว์ นายจำปาลักลอบ ได้เสียกับนางสาวจำปีจนมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือเด็กชายจำปูน ต่อมาจำปีได้ไปสมรสกับชายอื่น จำปาจึงนำเด็กชายจำปูนมาเลี้ยงและรับเป็นบุตร กรณีนี้จำปาผู้เยาว์สามารถกระทำได้ เพราะเป็นกิจการที่ต้องทำเองเฉพาะตัว ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

3 . กิจการที่เป็นการสมควรแห่งฐานานุรูป และเป็นการจำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีพตามสมควร เช่น การซื้อของกินเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น
   4. ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์ พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

สรุปสาระสำคัญ

1. ผู้เยาว์ คือ เด็กหรือบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลจะพ้นจากการเป็นผู้เยาว์ได้ 2 กรณีคือ เมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือเมื่อทำการสมรส
2. ผู้เยาว์จะใช้สิทธิทำกิจการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายโดยลำพังไม่ได้ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมกระทำการแทน หรือต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อนกิจการนั้นๆ จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
3. ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ได้แก่ ผู้ใช้อำนาจปกครอง และผู้ปกครอง
4 . นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถกระทำได้ด้วยตนเองได้แก่ กิจการอันเป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียวไม่มีทางเสีย กิจการที่จะต้องทำเองเฉพาะตัว กิจการที่เป็นการสมควรแห่งฐานานุรูปและเป็นการจำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีพตามสมควร ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้ เมื่อผู้เยาว์มีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์